ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้หลายคนคงได้ยินคำว่า โรคซึมเศร้า กันบ่อยขึ้น ทั้งจากข่าวการเสียชีวิตจากสาเหตุการ ฆ่าตัวตายด้วยโรคซึมเศร้า ของนักร้อง นักแสดงชาวเกาหลี ไม่เพียงแค่นั้นในประเทศไทยเองก็มีข่าวการเสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มมากขึ้นด้วยค่ะ ซึ่งถ้าจากฟังดูจากชื่อแล้วอาจดูเหมือนโรคนี้ไม่ได้มีความอันตรายอะไร แต่ความจริงแล้วนั้นโรคนี้หากไม่ได้รับการรักษา หรือหลายคนอาจจะเป็นโรคเนี้ยไม่รู้ตัว ซึ่งก็จะทำให้เกิดอันตรายและอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้เลยนะคะ ดังนั้น ในวันนี้เราจะมาให้ความรู้เกี่ยวกับ โรคซึมเศร้า คือ อะไร มีสาเหตุมาจากอะไร และวิธีการรักษาจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้หายจากโรคนี้กันค่ะ
รู้ทัน โรคซึมเศร้า เข้าใจไว้ดีที่สุด
โรคซึมเศร้า เป็นอาการผิดปกติทางจิตชนิดหนึ่ง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการจิตตก รู้สึกหดหู่หรือมีภาวะซึมเศร้าสะสม ส่งผลให้เกิดผลกระทบกับอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก พฤติกรรมที่แสดงออกมา รวมไปถึงกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน โดยโรคซึมเศร้าสามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
- โรคซึมเศร้าเรื้อรัง ภาะซึมเศร้าประเภทนี้จะอยู่กับผู้ป่วนมาเป็นเวลานานตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ซึ่งในผู้ป่วยหลายๆคนอาจจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นโรคนี้ และหากไม่ได้ทำการรักษาก็อาจจะนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าชนิดรุนแรงได้
- โรคซึมเศร้าชนิดรุนแรง ภาวะซึมเศร้าประเภทนี้มีความรุนแรงกว่าโรคซึมเศร้าแบบเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีอาการเศร้าตลอดเวลา จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การกิน การนอน การทำงาน ซึ่งรุนแรงจนนำไปสู่การคิดสั้น ฆ่าตัวตายได้เลยค่ะ
สาเหตุของโรค
สาเหตุหลักมาจากปัจจัยจากพันธุกรรมหรือผู้ที่มีประวัติในครอบครัว หรืออาจเกี่ยวกับระดับฮอร์โมนในร่างกาย การเปลี่ยนแปลงสารเคมีในสมอง และอีกปัจจัยที่มาจากสิ่งแวดล้อมที่มาจากสถานการณ์ต่าง ๆ สถานการณ์ในครอบครัวจนทำให้เกิดความสะเทือนใจ หรือความเครียดสะสมไม่สารถแสดงออกมาได้ จนทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัว
อาการของโรค
อาการทั่วไปของโรคนี้คือเริ่มจากการมีพฤติกรรมความคิดที่เริ่มเปลี่ยนไป คือ เริ่มคิดลบมากขึ้นทั้งต่อตนเองหรือต่อผู้อื่น มองโลกในแง่ร้าย รู้สึกไม่พอใจในตัวเอง จากนั้นจะเริ่มส่งผลต่อพฤติกรรมทางร่างกายทั้งทางด้านการแสดงความรู้สึกหงุดหงิดตัวเอง โมโหง่าย ฉุนเฉียว และอาจส่งผลต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การทำงานที่อาจทำให้มีประสิทธิภาพลดลง ปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างแย่ลง นอกจากนี้ จากพฤติกรรมทางร่างกายและจิตใจที่เปลี่ยนไป ย่อมส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น นอนไม่หลับ บางรายนอนหลับมากเกินไป น้ำหนักขึ้นรวดเร็ว หรือมีอาการปวดตามร่างกาย ซึ่งหากไม่รับการรักษาจนมีอาการรุนแรงขึ้นก็จะนำไปสู่การคิดสั้นฆ่าตัวตายได้
วิธีการรักษา
การรักษาในปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่จะใช้วิธีรักษาโดยใช้ ยาต้านโรคซึมเศร้า (Antidepressants) เนื่องจากเป็นความผิดปกของสารเคมีในสมอง ซึ่งการรักษาโดยใช้ยาต้านโรคซึมเศร้าก็ต้องมาจากการพิจารณาและความดูแลจากแพทย์เท่านั้นว่าควรใช้ยาชนิดใด ปริมาณเท่าใด และกินเป็นระยะเวลาเท่าใด สำหรับอาการข้างเคียงจากการรักษาโดยใช้ยาต้านแต่ละชนิดก็มีอาการแตกต่างกันไป แต่อาการโดยทั่วไปแล้วก็คือ
- คอแห้ง ปากแห้ง
- ง่วงนอน อ่อนเพลีย
- ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย
การรักษาอีกวิธีคือ การพูดคุยบำบัดจิต ซึ่งวิธีการนี้มักจะทำไปควบคู่กับการใช้ยา เป็นการพูดคุยเพื่อรับฟังปัญหา เมื่อผู้ป่วยได้ระบายความคิด ความรู้สึกที่ไม่ดีต่าง ๆ ออกมาก็จะช่วยผ่อนคลายความเครียดได้อีกทางหนึ่ง นอกจากการักษาทางการแพทย์แล้วการดูแลผู้ป่วยจากคนในครอบครัวก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้มีอาการดีขึ้นค่ะ โดยวิธีการดูแลผู้ป่วยก็คือ
- การรับฟัง การรับฟังเป็นสิ่งสำคัญต่อผู้ป่วย เพราะสาเหตุที่ป่วยโรคนี้ส่วนหนึ่งก็มาจากการเก็บไปคิดคนเดียว ดังนั้นการถูกรับฟังจากคนรอบข้าง รวมไปถึงคนรอบข้างรับฟังอย่างเข้าใจและใส่ใจก็จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายได้มากขึ้นและมีอาการดีขึ้นค่ะ
- พาออกไปเที่ยวเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ การอยู่แต่ในสถานที่หรือสภาพแวดล้อมเดิม ๆ ก็จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยยังรู้สึกวิตกกังวล หมกมุ่นกับความคิดแต่เรื่องเดิม ๆ ฉะนั้นการพาผู้ป่วยไปเที่ยว เปลี่ยนบรรยากาศก็จะช่วยให้ผู้ป่วยมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้นได้ค่ะ
- ดูแลสุขภาพ การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงก็ย่อมส่งผลต่อจิตใจของผู้ป่วย ดังนั้น การพาผู้ป่วยไปออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรง และการให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ที่สำคัญควรดูแลเรื่องการรับประทานยาหรือปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์ผู้ดูแลอย่างเคร่งครัดนะคะ เพื่อให้ผลการรักษาจะได้ออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ และหายจากอาการป่วยค่ะ
น่าจะทราบกันแล้วว่า โรคซึมเศร้า คือ อะไร หากใครที่อ่านบทความแล้วรู้สึกสงสัยว่าอาการโดยส่วนใหญ่เข้าข่ายที่จะเป็นโรคนี้ ก็สามารถไปปรึกษาแพทย์ได้เลยนะคะ ไม่ควรปล่อยเอาไว้หรือเขินอาย เพราะโรคนี้สามารถเกิดได้สำหรับคนทั่วไปเลยค่ะ หากเรารักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการก็จะทำให้สามารถรักษาหายได้ทันท่วงที การปรึกษาแพทย์ในสมัยนี้นอกจากจะไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลแล้ว ยังสามารถโทรไปปรึกษาที่สายด่วนสุขภาพจิต จาก กรมสุขภาพจิต เบอร์ 1323 เพื่อประเมินความเสี่ยง รับฟังปัญหา ให้ข้อมูลเรื่องโรค การรักษา และวิธีการปฏิบัติตัวในขั้นตอนต่อ ๆไปค่ะ
- บทความที่เกี่ยวข้อง
5 ข้อคิด สร้างสุขภาพจิต เพื่อเปลี่ยนชีวิตองค์รวมที่ดีขึ้นจากเดิม